โรคไหล่ติด

Last updated: 21 ต.ค. 2567  |  130 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไหล่ติด

โรคไหล่ติด เป็นโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดและขยับข้อไหล่ได้น้อยลง ทำให้รบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันนะคะ

             

สาเหตุของโรค

สาเหตุของโรคไหล่ติดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักจะพบร่วมกับการที่มีอุบัติเหตุที่ไหล่มาก่อน หรือมีเอ็นข้อไหล่อักเสบหรือเสื่อม ทำให้ผู้ป่วยลดการขยับใช้งานข้างที่เจ็บ จึงทำให้มีอาการไหล่ติดได้ในเวลาต่อมา และจะพบได้บ่อยโดยเฉพาะกลุ่มคนไข้เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี

 
อาการของโรค ประกอบไปด้วยอาการ

1.     ปวด โดยอาการปวดจะค่อยๆเพิ่มมากขึ้นอย่างช้าๆ และอาจมีอาการปวดมากตอนกลางคืน

2.     การจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่  โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากการติดในท่ายกแขนไปข้างหน้า  และการจำกัดการเคลื่อนไหวนั้นจะเป็นทั้งขณะที่เราขยับข้อไหล่เอง และ เมื่อมีคนมาขยับข้อไหล่ให้

 
จะพบบ่อยได้กลุ่มคนที่ 

1.     อายุ 50-70 ปี 

2.     พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

3.     มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ โรคข้อรูมาตอย

4.     เคยมีประวัติอุบัติเหตุ/ผ่าตัด บริเวณไหล่มาก่อน

5.     เคยมีประวัติมีเอ็นที่หัวไหล่อักเสบหรือเสื่อมร่วมด้วย

ระยะของโรคไหล่ติด

1.     ระยะ Pre-freezing อาการระยะแรก 0-3 เดือน จะมีอาการปวดและจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ เนื่องจากเริ่มมีการอักเสบของเนื้อเยื่อบุข้อ

2.     ระยะ Freezing  ระยะ 3-6 เดือน อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น การจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อจะมากขึ้น เนื้อเยื่อบุข้อไหล่จะมีอาการอักเสบอย่างมาก และเริ่มมีการยึดเกาะของข้อไหล่

3.     ระยะ Frozen ระยะ 9-15 เดือนอาการปวดจะเริ่มลดลง แต่การจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อนั้นยังคงอยู่ เนื้อเยื่อบุข้อไหล่จะอักเสบลดลง แต่จะมีพังผืดเพิ่มมากขึ้น

4.     ระยะ Thawing คือ ระยะที่อาการทุกอย่างเริ่มดีขึ้น อาการปวดและการจำกัดการเคลื่อนไหวดีขึ้น

(เอกสารอ้างอิง: Neviaser stages 1945)

การรักษา

โดยทั่วไปแล้ว โรคไหล่ติดนั้นจะสามารถหายได้เอง โดยใช้ระยะเวลา 18-24 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นาน และในบางคนพบว่าอาการปวดยังคงเหลืออยู่นานมากกว่า 3 ปี ทำให้ผู้ป่วยต้องทนกับความเจ็บปวดเป็นระยะเวลานาน และจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบไหล่มีอาากรฝ่อลีบเนื่องจากไม่ได้ใช้งาน ดังนั้นหากสงสัยว่ามีอาการของโรคไหล่ติด ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว

การรักษา หากอาการไม่มาก สามารถใช้การทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกาย ร่วมกับเครื่องมือทำกายภาพ เพื่อเพิ่มพิสัยการขยับของข้อให้ได้มากขึ้น และหากอาการรุนแรง ที่ VASU pain management เรามีวิธีการรักษาโดยใช้การฉีดกลูโคสเข้าไปบริเวณข้อไหล่ และเส้นเอ็น เพื่อทำให้ผังผืดที่ติดนั้นคลายออก (Hydro dissection) ซึ่งการทำหัตถการนี้จะใช้อัลตราซาวน์ในการนำทางของเข็ม ทำให้เราสามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหากใช้วิธีดังกล่าว จะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากภาวะไหล่ติดได้เร็วมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามโรคไหล่ติดนั้น อาจมีอาการคล้ายกันกับโรค อื่นๆ เช่น เอ็นข้อไหลอักเสบ กล้ามเนื้อบริเวณไหลตึง เพื่อรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรค เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้