หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท Herniated Disc
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
อาการปวดหลัง เป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะวัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ ด้วยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการทำงานนาน ๆ ยกของหนัก รวมถึงปัจจัยทางอายุที่เริ่มสูญเสียความยืดหยุ่นและกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อม หากใครมีอาการปวดหลังโดยเฉพาะหลังส่วนล่าง สะโพก หรืออาจปวดร้าวลงขาและเริ่มมีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจเป็นอาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แล้วภาวะนี้ มีสาเหตุมาจากอะไร มีอาการแบบไหนบ้างที่บอกได้ แล้วแนวทางการรักษา มีแบบไหนบ้าง?
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คืออะไร?
หมอนรองกระดูกประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือส่วนข้างในมีลักษณะเป็นสารน้ำคล้ายเจล เรียกว่า Nucleus pulposus และ เนื้อเยื่อด้านนอก เรียกว่า Annulus fibrosus
ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือภาวะที่สารน้ำลักษณะคล้ายเจล (Nucleus pulposus) ในแกนกลางของหมอนรองกระดูกสันหลังยื่นหรือปลิ้นออกมาผ่านการฉีกขาดหรือการแตกของเนื้อเยื่อด้านนอก (Annulus fibrosus) เป็นสาเหตุทำให้หมอนรองกระดูกเกิดการทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง
อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค
1. หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณคอ (Cervical Herniated Disc) มักมีอาการปวดบริเวณคอ ไหล่ ร้าวไปที่แขน อาจมีอาการชาและอ่อนแรงบริเวณแขน มือ และนิ้วมือร่วมด้วย
2. หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณหลัง (Lumbar Herniated Disc) เกิดบริเวณส่วนล่างของกระดูกสันหลัง เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด มักมีอาการปวดหลังช่วงล่าง สะโพก ลามไปถึงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง และรู้สึกชา อ่อนล้าบริเวณขาและเท้าได้
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีกี่แบบ
1. Bulging คือการที่ส่วนข้างในที่มีลักษณะคล้ายเจล Nucleus pulposus ปลิ้นออกมาแต่ส่วนเนื้อเยื่อด้านนอกยังไม่มีการฉีกขาด
2. Disruption คือการที่ส่วนข้างในที่มีลักษณะคล้ายเจล Nucleus pulposus ปลิ้นออกมา และส่วนเนื้อเยื่อด้านนอกมีการฉีกขาดบางส่วน
3. Free fragment คือการที่ส่วนข้างในที่มีลักษณะคล้ายเจล Nucleus pulposus ปลิ้นออกมา และส่วนเนื้อเยื่อด้านนอกมีการฉีกขาดทั้งหมด
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง มักมีความเกี่ยวข้องกับความเสื่อมลงของกระดูกสันหลัง การบาดเจ็บ รวมถึงปัจจัยทางพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- ความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง
เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังจะสูญเสียปริมาณน้ำ ทำให้ความยืดหยุ่นของหมอนรองกระดูกน้อยลง มีแนวโน้มจะฉีกขาดหรือแตกร้าวมากขึ้น
- การบาดเจ็บบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลัง
เช่น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การหกล้ม รวมถึงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาจทำให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
- การยกของผิดท่า
การยกของหนักแบบไม่ถูกวิธีก็ส่งผลเสียต่อหมอนรองกระดูกสันหลังได้ เช่น การใช้กล้ามเนื้อหลังแทนการใช้ขาในการยกของ นาน ๆ เข้าก็อาจทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนได้
- นั่งท่าเดิมซ้ำเป็นเวลานาน
การนั่งท่าที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคนวัยทำงานหรือพนักงานออฟฟิศ นอกจากออฟฟิศซินโดรมแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนล่างได้ด้วยเช่นกัน
- ภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน
ยิ่งน้ำหนักมากเท่าไหร่ หมอนรองกระดูกสันหลังจะยิ่งรับน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ การไม่ออกกำลังกายก็จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนหลังอ่อนแอและมีโอกาสการเกิดภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่ายขึ้น
- การสูบบุหรี่
เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ลดน้อยลง รวมถึงการเลี้ยงหมอนรองกระดูกด้วยเช่นกัน มีโอกาสทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมไวกว่าปกติ
- ปัจจัยด้านอาชีพ
โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้แรงในการทำงานค่อนข้างเยอะ เช่น งานที่ต้องยกของหนัก งานที่ต้องมีการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ หรืองานที่ต้องมีการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ซึ่งงานเหล่านี้จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในการเกิดภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
วิธีรักษา มีอะไรบ้าง?
การรักษาภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ตำแหน่ง โรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งตัวเลือกในการรักษาจะมีดังนี้
การรักษาแบบผ่าตัด
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกกรณี โดยให้สังเกตอาการเหล่านี้ หากมีอาการเหล่านี้ จะเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
- อาการปวดต่อเนื่องอย่างรุนแรง
- อาการชาและรู้สึกอ่อนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- ไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ (Cauda Equina Syndrome)
- มีปัญหาในการเดินหรือการรักษาสมดุล
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาโดยการใช้ยา
เช่น ยาแก้ปวด NSAIDs ที่ช่วยลดอาการปวดและอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดเส้นประสาท (ยาทุกประเภทต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น)
การทำกายภาพบำบัด
ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่รองรับกระดูกสันหลัง เพิ่มความยืดหยุ่นและลดแรงกดทับเส้นประสาท เช่น การยืดกล้ามเนื้อ เสริมความแข็งแรงของลำตัว และการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ใช้แรงกระแทกน้อย
การฉีดกลูโคสไปบริเวณรอบเส้นประสาท
หากรักษาด้วยการกินยาและทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ดีขึ้น ก็จะเพิ่มการรักษาโดยการฉีดกลูโคสเข้าไปบริเวณรากของเส้นประสาท เพื่อลดอาการปวด และการอักเสบที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ
การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง (Epidural Steroid Injections)
เป็นวิธีการรักษาหนึ่งที่รักษาเบื้องต้นไม่ได้ผล โดยการฉีดยาชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง เพื่อลดอาการอักเสบและบรรเทาอาการปวด โดยที่ Vasu Pain Mangement เราจะทำในห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน และใช้อัลตราซาวน์ร่วมกับเครื่อง ฟลูโอโรสโคปีในการระบุตำแหน่ง
การทำ Percutaneous Laser Discs Decompression หรือ PLDD
เป็นการรักษาที่ค่อนข้างใหม่ โดยใช้หลักการจี้เลเซอร์ไปบริเวณหมอนรองกระดูกที่ปลิ้น โดยเลเซอร์จะไปทำให้ลดความดันในหมอนรองกระดูก ทำให้หมอนรองที่ปลิ้นยุบลง ทำให้ลดการกดทับของเส้นประสาท ข้อดีคือ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องดมยาสลบ ฟื้นตัวเร็ว ราคาถูกกว่าการผ่าตัด อาจมีข้อจำกัดในกรณีหมอนรองกระดูกปลิ้นขั้นรุนแรง
อย่างไรก็ตาม การรักษาควรเป็นไปตามขั้นตอน และต้องให้แพทย์วินิจฉัยอย่างครบถ้วน เพื่อแผนการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่เหมาะสมที่สุด