Last updated: 29 ก.ค. 2567 | 496 จำนวนผู้เข้าชม |
PLDD หรือ Percutaneous Laser Disc Decompression
อาการปวดที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจเกิดจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือกิจวัตรประจำวัน เช่น นั่งนาน ยกของหนัก มักสร้างความกังวลใจ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้คนจำนวนมาก การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น มีตั้งแต่การกินยา กายภาพบำบัด การฉีดยา โดยจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค
วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับการรักษาที่เรียกว่า Percutaneous Laser Disc Decompression หรือ PLDD ที่เหมาะกับ คนไข้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่กินยา ทำกายภาพบำบัดมาแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่จะทำการผ่าตัด คือ ยังไม่มีอาการอ่อนแรง ไม่มีปัญหาในการควบคุมการเดิน สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ได้ปกติ
Percutaneous Laser Disc Decompression หรือ PLDD คืออะไร
PLDD เป็นการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่เรียกว่า minimally invasive treatment วิธีการคือการใช้ Optic Fiber นำกระแส Laser เข้าไปที่หมอนรองกระดูกระดับที่ปลิ้น เพื่อทำให้เกิด
1. Vaporisation การระเหยเป็นไอของหมอนรองกระดูก
2. Hardening การแข็งตัวของหมอนรองกระดูก
3. Denervation การตัดสัญญาณการรับรู้ความปวดของเส้นประสาท
โดยเมื่อเกิด 3 เหตุการณ์ข้างต้น ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นมีการหดตัว ลดความดันภายในหมองรองกระดูก ทำให้ลดการกดทับของเส้นประสาท ทำให้อาการปวดร้าวตามเส้นประสาทดีขึ้นตามลำดับ
การรักษาด้วยเครื่อง PLDD มีข้อดีอย่างไรบ้าง
1. มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อน้อยมาก ไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ เนื่องจากแผลจะขนาดเท่ากับรูเข็ม
2. ไม่มีการเกิดแผลเป็นที่อาจกลายเป็นปัญหาภายหลังได้
3. ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะอยู่เพื่อสังเกตอาการ หากไม่มีความผิดปกติก็จะสามารถกลับบ้านได้
4. ไม่จำเป็นต้องใช้การดมยาสลบ เนื่องจากสามารถฉีดยาชาเฉพาะที่ก็เพียงพอ
5. ฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้รวดเร็ว
6. ราคาย่อมเยากว่าการผ่าตัด
ขั้นตอนในการทำ PLDD
1. ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด
2. จัดท่าด้วยการนอนคว่ำ
3. เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณที่จะทำหัตถการ และเตรียมอุปกรณ์ปราศจากเชื้อ
4. แพทย์จะทำการฉีดยาชาเพื่อลดอาการปวดเฉพาะที่
5. แพทย์จะใช้ Optic fiber (ขนาดเท่าเข็มฉีดยา) จี้ไปบริเวณหมอนรองกระดูกที่ทำการ Laser
6. ตรวจสอบตำแหน่งของเข็มโดยใช้เครื่อง C-arm และ อัลตราซาวน์
7. นอนเพื่อสังเกตอาการผิดปกติหลังทำที่ห้องพักฟื้น 1-2 ชั่วโมง หากไม่มีอาการผิดปกติ สามารถกลับบ้านได้
รูปแสดงตัวอย่างในการทำ PLDD ในห้องผ่าตัด
การดูแลปฏิบัติตัวหลังทำ PLDD
1. ใส่อุปกรณ์พยุงหลัง นาน 3-4 สัปดาห์
2. ไม่ควรนั่ง ยืน เป็นระยะเวลานานติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมง
3. เลี่ยงการเล่นกีฬา ยกของหนัก นาน 6 สัปดาห์หลังทำ
4. เลี่ยงการขับรถเอง นาน 4 สัปดาห์หลังทำ
5. สามารถทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID ได้หากมีอาการะบม
ทั้งนี้ขั้นตอน วิธีการ และผลลัพธ์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล สามารถทำนัดเพื่อเข้ามาปรึกษาก่อนทำหัตถการได้ที่ Vasu Pain Management
อ้างอิงบทความจาก G. Kienbacher, PLDD Training Center Graz, Austria